การ ทำเบียร์
หากเอ่ยถึงการ ผลิตเบียร์ หลายคนถึงกับต้องกุมขมับไปตามๆกัน เนื่องจากจินตนาการไม่ออกเลยว่ามันสามารถทำเองได้ด้วยหรือ ภาพในหัวของเราต้องจินตนาการไปถึงเครื่องมือของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทเบียร์ ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา จึงรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคยกับมันมากเท่าไร และในบทความนี้เราจะมาสอนให้ทุกท่านสามารถ ทำเบียร์ ที่บ้านดื่มเองได้ครับ
สารบัญ
1.ความรู้เบื้องต้น
2.อุปกรณ์ในการ ทำเบียร์
3.การสกัดน้ำตาล (Mash)
4.การต้มเบียร์ (Boil)
5.การหมัก (Ferment)
6.การบรรจุลงขวด (Bottle & Condition)
7.การ ทำเบียร์ ผลไม้
8.สรุป ต้นทุนในการ ทำเบียร์
1.ภาพรวมและความรู้เบื้องต้น
จริงๆแล้วในการผลิตเบียร์นั้นมีหลากหลายกระบวนการ ซึ่งแต่ละสถาบันที่ สอนทำเบียร์ ก็จะมีวิธีที่โปรดปรานของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป แต่ในมุมมองของผมเอง การที่จะเริ่มต้น ทำเบียร์และให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้สูง ควรเริ่มต้นกับสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน เลือกวัตถุดิบที่ใช้ง่าย เลือกอุปกรณ์ที่ง่าย เลือกเบียร์สไตล์ที่ง่าย หากคุณยังไม่เข้าใจเรื่องของเบียร์แต่ละประเภท ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ก่อนครับ ความแตกต่างของเบียร์แต่ละประเภท
เบียร์ เกิดจากการหมักของ น้ำตาลที่ละลายอยู่ในน้ำ โดยใช้ ยีสต์ เป็นตัวทำปฏิกิริยาให้ ซึ่งยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มีเซลล์เดียว และที่สำคัญคือไม่กินเส้นกันกับเหล่าบรรดาแบคทีเรียซะด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราทำเบียร์ ความสะอาดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ จะสังเกตุได้ว่าต้องมีการฆ่าเชื้อโรคโดยน้ำยาที่ออกแบบมาพิเศษ
กระบวนการ ทำเบียร์กินเอง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- Mash (อ่านว่า แมช ผมไม่ได้กระแดะนะครับ แต่เราต้องใช้ภาษาอังกฤษเพราะมันไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา จึงไม่มีภาษาไทยรองรับ) กระบวนการนี้คือการสกัดน้ำตาลออกมาจากข้าวบาร์เลย์ เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการก่อกำเนิดเบียร์ หากคุณอยากเข้าใจเรื่องของข้าวบาร์เลย์มากขึ้น ก็มีบทความที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ ข้าวที่ใช้ในการผลิตเบียร์
- Boil ขั้นตอนถัดมาคือการนำน้ำตาลที่สกัดได้ ไปต้มให้เดือด กระบวนการนี้กินเวลานานถึง 1 ชั่วโมง สาเหตุที่ต้มนานขนาดนี้เนื่องจากในน้ำตาลนั้น มีสารบางอย่างที่เราไม่ต้องการ เราจึงต้มไล่มันออกไปกับอากาศ และที่สำคัญต้มเพื่อฆ่าเชื่อโรค ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการหมัก และในขั้นตอนนี้จะมีกระบวนการหนึ่งที่ค่อนข้างทำยากพอสมควร นั่นก็คือการ cool down
ทำไมเราต้องทำการ cool down เพราะเมื่อต้มเสร็จเราต้องเอาเข้าไปหมักให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเบียร์เสียแน่นอน ถ้าหากเราปล่อยให้มันเย็นลงเอง อาจใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการ cool down จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก โดยที่เราต้องทำอุณภูมิจาก 100 องศา ลงมาอยู่ในระดับ 18 – 25 องศาเซลเซียส ในระยะเวลา 30 – 60 นาที - Ferment หมายถึงกระบวนการหมัก หลังจากที่เราต้มน้ำตาลเป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้ว เราก็จะให้ยีสต์ได้ระเบิดพลังในขั้นตอนนี้แหละครับ โดยใส่ยีสต์ลงไปพร้อมนำไปแช่ในตู้เย็นที่ควบคุมอุณหภูมิแบบพิเศษ ซึ่งเรื่องราวของการดัดแปลงตู้เย็น ผมได้ทำบทความไว้แล้ว การดัดแปลงตู้เย็นเพื่อใช้ในการหมักเบียร์ และในกระบวนการนี้จะกินเวลาไปถึง 10 วันเลยทีเดียว
- Bottle & Condition การบรรจุลงขวดและการทำให้ซ่า ขึ้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ตื่นเต้นและสนุกที่สุดในการทำเบียร์ เนื่องจากเราจะได้ชิม เบียร์ที่เราทำเอง พร้อมกับเวลาเปิดฝาแล้วได้ยินเสียงความซ่าของมัน เทลงแก้วแล้วมีฟอง มีความสุขที่สุดเลยล่ะครับ
2.วัสดุและอุปกรณ์ในการ ทำเบียร์
เบียร์ถังแรกที่เราจะต้มกันในวันนี้คือ Pale Ale เนื่องจากเป็นเบียร์ที่ทำง่าย เหมาะแก่การเรียนรู้เบื้องต้น วัสดุในการทำเบียร์หาซื้อได้ที่นี่ หรือถ้าบางอย่างในร้านนี้หมด คุณสามารถหาซื้อที่ร้านอื่นๆได้ โดยเข้าไปดูในบทความนี้ครับ รวบรวมร้านขายวัสดุอุปกรณ์ในการทำเบียร์
ซึ่งจะมีวัสดุในการทำเบียร์ดังรายการต่อไปนี้ (สำหรับเบียร์ 20 ลิตร)
- Pale Malt จำนวน 9 ปอนด์
- Carapils Malt จำนวน 0.5 ปอนด์
- CaraRed จำนวน 1 ปอนด์
- ยีสต์ Safale US-05 จำนวน 1 ซอง
- น้ำแร่ Minere ขวด 1.5L จำนวน 18 ขวด
- Citra Hops จำนวน 1 ออนซ์
- น้ำยาฆ่าเชื้อ Star San จำนวน 1 ออนซ์
- น้ำแข็งยูนิต จำนวน 5 ถุง
- น้ำตาล Dextrose จำนวน 130 กรัม
ส่วนอุปกรณ์ในการทำเบียร์นั้น แบ่งออกเป็น 4 หมวด ด้วยกัน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการสกัดน้ำตาล (Mash)
- ถัง Mash Tun จำนวน 1 ถัง
- กระบวยใหญ่ จำนวน 1 อัน
- เครื่องชั่งน้ำหนัก (ไว้ชั่งข้าว) จำนวน 1 อัน
- หม้อติดก๊อกและเทอร์โมฯ 31L จำนวน 1 หม้อ
- เตาแก๊ส (ห้ามใช้เตาปิ๊กนิก) จำนวน 1 ชุด
อุกรณ์ที่ใช้ในการต้มเบียร์ (Boil)
- ขดทองแดง 3/8 นิ้ว หรือ 3 หุน จำนวน 2 ขด (จะอธิบายถัดไป)
- กระติกน้ำที่ใส่ท่อทองแดงได้ จำนวน 1 อัน
- สายยางใส 5/8 นิ้ว หรือ 5 หุน จำนวน 1 เมตร
- สายยางใส 3/8 นิ้ว หรือ 3 หุน จำนวน 4 เมตร
- เข็มขัดรัดสายยาง จำนวน 5 อัน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการหมักเบียร์ (Ferment)
- ถังหมักเบียร์ 20L จำนวน 1 ถัง
- ถัง Food grade 20L จำนวน 1 ถัง
- แอร์ล๊อค จำนวน 1 ชุด
- Hydrometer จำนวน 1 อัน
- กระบอกตวง 100ml จำนวน 1 อัน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุขวด (Bottle & Condition)
- ถังสำหรับเตรียมบรรจุ จำนวน 1 ถัง
- ที่เปิดฝาถัง จำนวน 1 อัน
- Bottle Filler จำนวน 1 อัน
- ฝาจีบ จำนวน 50 ฝา
- ขวด 330ml จำนวน 48 ขวด
- เครื่องปิดฝาจีบ จำนวน 1 เครื่อง
- Auto Siphon จำนวน 1 อัน
หากคุณอยากทราบถึงรายละเอียดของแต่ละอุปกรณ์ ว่าการทำเบียร์นั้น แต่ละอุปกรณ์ทำหน้าที่อะไร มีหลักการทำงานอย่างไร ให้อ่านได้ที่นี่ครับ เจาะลึกรายละเอียดของอุปกรณ์การทำเบียร์
3.การสกัดน้ำตาล (Mash)
อันดับแรกเลยเมื่อคุณมีวัสดุอุปกรณ์ครบแล้ว เราก็พร้อมที่จะทำขั้นตอนแรกสุดคือ ชั่งตวงข้าวที่ผ่านการบดมาแล้ว (ร้านขายมอลต์จะต้องบดให้) ผสมกันแล้วเก็บไว้ในภาชนะหนึ่งก่อน จากนั้น (กระบวนการถัดไปเรียกว่า Mash)
- เทน้ำแร่ Minere จำนวน 8 ขวด ลงไปในหม้อต้มเบียร์ (1.5 x 8 = 12L) พร้อมกับยกหม้อขึ้นเตาแก๊ส ต้มน้ำจนอุณหภูมิถึง 75 องศาเซลเซียส
- เทน้ำที่ได้จากข้อ 1. ใส่ในกระติก Mash Tun (ระวังน้ำร้อนลวก)
- นำข้าวที่เตรียมไว้มาค่อยๆเทใส่ในกระติก Mash Tun ที่มีน้ำร้อน เทไปคนไป อย่าเทเร็ว อย่าให้จับตัวเป็นก้อน ระยะเวลาในการเทประมาณ 3 นาที ควรหมดถัง
- ปิดฝา Mash Tun แล้วจับเวลา 1 ชั่วโมง
เมื่อครบ 1 ชั่วโมงแล้ว ให้เราถ่ายน้ำตาลที่ได้จากการ Mash เก็บไว้ในถังหมักก่อน จากนั้นทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ (กระบวนการถัดไปเรียกว่า Sparge อ่านว่า สะ-ปาด)
- เทน้ำแร่ Minere จำนวน 10 ขวด ลง ลงไปในหม้อต้มเบียร์ (1.5 x 10 = 15L) พร้อมกับยกหม้อขึ้นเตาแก๊ส ต้มน้ำจนอุณหภูมิถึง 80 องศาเซลเซียส
- เทน้ำที่ได้จากข้อ 1. ใส่ในกระติก Mash Tun ที่มีกากข้าวอยู่เต็มไปหมด จนน้ำหมดหม้อรวดเดียวเลย (โดยไม่ต้องใช้กระบวยคน!)
- ถ่ายน้ำออกจาก Mash Tun ทันที แล้วใส่ในถังหมักรวมไปกับน้ำที่มาจากนั้นตอน Mash ได้เลย
- รอจนน้ำไหลออกมาจนหมด เราก็จะได้ น้ำตาลที่ละลายอยู่ในน้ำ 24 ลิตร ซึ่งเรียกว่าน้ำ Wort
Mash คือการสกัดน้ำตาลออกมาจากข้าวบาร์เลย์
การ Sparge คือการเทน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส ลงไปในข้าวที่ผ่านการ Mash มาแล้ว
4.การต้มเบียร์ (Boil)
หลังจากที่เราได้ น้ำ Wort ประมาณ 24 ลิตร เราก็เทน้ำตาลทั้งหมดใส่หม้อต้มเบียร์ เปิดแก๊ส แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- รอจนน้ำ Wort เดือด 100 องศาเซลเซียส (อย่าปิดฝาหม้อเป็นอันขาด!)
- เมื่อน้ำเดือดให้เราทำการจับเวลา 60 นาที (การทำเบียร์จะนับเวลาถอยหลัง ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล)
- หลังจากจับเวลาแล้วก็ต้มเบียร์ไปเรื่อยๆ (พยายามให้มันเดือดแรงๆเข้าไว้)
- โดยระหว่างที่รอการต้ม 1 ชั่วโมงนี้ เราสามารถทำการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในเวลานี้ได้เลย คำถามที่ว่าต้องฆ่าเชื้ออุปกรณ์อะไรบ้าง ดูในหัวข้อถัดไป
- เมื่อเดินทางมาถึง 5 นาทีสุดท้าย (หมายถึงน้ำตาลถูกต้มมาทั้งหมด 55 นาทีแล้ว) ให้ทำการใส่ Citra Hops ลงไป แล้วเอาขดลวดทองแดงที่ใช้ในการลดอุณหภูมิลงไปในหม้อ (ภาพเพิ่มเติมในรูปด้านล่าง)
- เมื่อเหลือนาทีที่ 0 ปิดไฟทันที (ไม่ต้องเอาอะไรไปแตะน้ำเบียร์!)
- ทำการเปิดน้ำประปาให้แรงสุด เพื่อลดอุณภูมิ จนลงมาถึง 50 องศาเซลเซียส ใช้แค่น้ำประปาก่อน ยังไม่ต้องใช้น้ำแข็ง ไม่เช่นนั้นแล้วน้ำแข็งจะละลายหมดและอุณหภูมิจะลงมาแค่เพียง 60 องศาเท่านั้น ถ้าอยากทราบรายละเอียดของการ cool down แนะนำบทความนี้ครับ เจาะลึกวิธีการ cool down เบียร์
- เอาน้ำแข็งใส่ในกระติกที่มีขดทองแดงอีกขดอยู่ แล้วเปิดน้ำประปาเพียงแค่ครึ่งเดียว เพื่อลดอุณหภูมิ จนลงมาถึง 18 – 25 องศาเซลเซียส
- เปิดน้ำเบียร์ใส่กระบอกตวงเกือบเต็ม แล้วทำการวัดค่า Original Gravity แล้วจดบันทึกเอาไว้
- ใช้สายยาง 5 หุน สวมที่ก๊อกของหม้อต้ม แล้วเปิดก๊อกถ่ายน้ำเบียร์ลงไปในถังหมัก จนน้ำหมดหม้อ (ไม่ต้องเอากาก Hops ลงมา)
การเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อให้ปฏิบัติ ดังนี้
- นำถัง Food grade ที่ไม่ถูกเจาะรูใส่น้ำเปล่าให้เกือบเต็ม
- เทน้ำยา Star San ลงไปในข้อ 1.
- คนให้เกิดฟอง ก็พร้อมใช้งานแล้ว (น้ำยานี้ใช้งานได้หลายครั้ง ตราบใดที่ฟองยังอยู่)
รายการอุปกรณ์ที่ต้องฆ่าเชื้อ
- ถังหมัก
- แอร์ล๊อค
- สายยาง 4 หุน
- Hydrometer
- กระบอกตวง 100ml
ขั้นตอนการฆ่าเชื้อนั้นสามารถทำได้โดยการนำอุปกรณ์ที่ต้องการฆ่าเชื้อ ไปแช่ในน้ำยา Star San ที่เราผสมน้ำไว้ ให้น้ำยาสัมผัสอุปกรณ์นาน 60 วินาที พยายามให้น้ำยาสัมผัสทุกส่วนของอุปกรณ์ หลังจากนั้น ทำการทิ้งไว้ให้แห้งเป็นเวลา 5 นาที
แผนภาพของการติดตั้งอุปกรณ์ cool down
5.การหมัก (Ferment)
หลังจากที่เราปล่อยน้ำเบียร์ผ่านสายยางลงมาที่ถังหมักแล้ว ซึ่งต้องเป็นน้ำเบียร์ที่ผ่านการ cool down แล้วเท่านั้น มิเช่นนั้น ยีสต์จะตายในทันที เราก็ฉีกซองยีสต์ แล้วโรยลงบนผิวของน้ำเบียร์ให้กระจายๆ อย่าให้จับตัวเป็นก้อน ปิดฝาถัง ติดตั้งแอร์ล๊อค เอาน้ำที่มี Star San ใส่ลงไปในแอร์ล๊อค แล้วน้ำเข้าตู้เย็น ที่กำหนดอุณหภูมิไว้ 18 องศาเซลเซียส
กระบวนการหมักนี้ต้องทิ้งไว้ 10 วัน
6.การบรรจุลงขวด (Bottle & Condition)
หมักน้ำตาลกับยีสต์ทิ้งไว้ 10 วัน เราก็ได้เบียร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังขาด ความซ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เบียร์ขาดไม่ได้เลย และกระบวนการที่จะทำให้เบียร์มีความซ่านั้น ง่ายมาก เพียงแค่ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้
- ชั่งน้ำตาล Dextrose จำนวน 130 กรัม
- ตวงน้ำเปล่า 250 ml แล้วต้มให้เดือด แล้วเทใส่ในน้ำตาล
- คนจนน้ำตาล Dextrose ละลาย จากนั้นนำไปแช่ตู้เย็น 20 นาที
- ทำการฆ่าเชื้อขวดเบียร์ทั้งหมด รวมไปถึง Auto Siphon, Bottle Filler, ช้อนคนน้ำตาล, กระบอกตวง, Hydrometer, ถังเตรียมบรรจุ และ ฝาจีบ.
- นำเบียร์ออกมาจากตู้เย็น ทำการเปิดฝาถัง แล้วทำการวัดค่า Final Gravity เพื่อนำไป คำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ จากนั้นใช้ Auto Siphon ดูดน้ำเบียร์ใส่ถังเตรียมบรรจุ โดยไม่ต้องเอาเศษยีสต์ออกมา
- นำ Bottle Filler มาติดตั้งกับถังเตรียมบรรจุ
- นำน้ำตาลที่เย็นแล้วเทใส่ถังเตรียมบรรจุที่มีเบียร์อยู่ คนเบาๆให้เข้ากัน
- ทำการบรรจุลงขวดจนครบ แล้วปิดฝาจีบ
จากที่เราได้เบียร์ที่บบรจุอยู่ในขวดแล้ว ก็ทำการนำไปแช่ที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส แล้วแช่ทิ้งไว้ 7 วัน
7.การ ทำเบียร์ ผลไม้
ในโลกของการผลิตเบียร์ คำว่าเบียร์ผลไม้ มีได้ 3 แบบ คือ
- ใส่กลิ่น Hops ที่คล้ายกับผลไม้
- ใส่สารแต่งกลิ่นสังเคราะห์
- ใส่น้ำผลไม้หรือผลไม้จริงๆ ลงไปในเบียร์
ในที่นี้ผมจะโฟกัสในข้อแรกก่อน ก็คือการใส่ Hops ที่มีกลิ่นคล้ายกับผลไม้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ความเสี่ยงต่ำที่สุดที่เบียร์จะเสีย หากคุณอยากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับฮอปส์ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ เจาะลึกเรื่องฮอปส์ ซึ่งเราสามารถดูโปรไฟล์ของ Hops แต่ละตัวได้ในอินเตอร์เน็ต เพราะว่า Hops แต่ละตัวก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น
- Citra ให้กลิ่นซิตรัสแบบส้มๆ และผลไม้เมืองร้อน
- Mosaic ให้กลิ่นผลไม้โทนหวานๆ
- Sabro ให้กลิ่นที่คล้ายกับสับปะรด
- Mandarina ให้กลิ่นส้ม
- Huell Melon ให้กลิ่นเมล่อน
และด้านบนเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น จริงๆแล้วยังมีอีกหลากหลายชนิดเลย ลองไปศึกษากันต่อดูนะครับ ส่วนท่านใดที่สนใจในหัวข้อนี้ ให้ตามมาดูที่นี่ได้เลยครับ การใส่วัตถุดิบอื่นๆลงไปในเบียร์
8.สรุป ต้นทุนในการ ทำเบียร์
และแล้วก็มาถึงบทที่ต้องยุ่งเรื่องราคา ถ้าดูในภาพรวมของวัตถุดิบวันนี้ เนื่องจากเราทำ Pale Ale ราคาเบียร์ 1 ถัง ราคาก็จะตามนี้ครับ
- Pale Malt ราคา 450 บาท
- Carapils Malt ราคา 30 บาท
- CaraRed ราคา 70 บาท
- ยีสต์ Safale US-05 ราคา 180 บาท
- น้ำแร่ Minere ขวด 1.5L ราคา 270 บาท
- Citra Hops ราคา 100 บาท
- น้ำยาฆ่าเชื้อ Star San ราคา 120 บาท
- น้ำแข็งยูนิต ราคา 50 บาท
- น้ำตาล Dextrose ราคา 10 บาท
ราคารวมก็จะได้ 1,280 บาท แต่ในส่วนของอุปกรณ์บอกได้เลยว่าแต่ละคนไม่เท่ากันเพราะเราไม่สามารถคิดเรื่องของราคาตู้เย็นได้ แต่ถ้าตัดเรื่องตู้เย็นออก ราคาก็จะอยู่ประมาณ 15,000 – 25,000 บาท ยังไงก็ลองไปพิจารณาดูนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข ดื่มแบบรับผิดชอบครับ