
การทำเบียร์
ขั้นตอนในการทำเบียร์ว่ายากแล้ว บางครั้งอุปกรณ์ใน การทำเบียร์ ก็ยากเกินกว่าจะเข้าใจ โดยเฉพาะกับมือใหม่ เพราะเราคงจินตนาการไม่ออกถ้าเราไม่เคยใช้ ไม่เคยเห็นมันมาก่อน
การทำเบียร์ที่ดีได้ผลดีนั้น ผู้ต้มเบียร์จะต้องเข้าใจให้ลึกซึ้ง ถ่องแท้ เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเบียร์ทั้งหมด มิเช่นนั้น คุณอาจจะต้องเสียเบียร์ของคุณไป แล้วเททิ้งทั้งหมด ก็เป็นได้ ในบทความนี้ผมจะมาอธิบายถึงอุปกรณ์หลักในการผลิตเบียร์แบบละเอียดให้ทุกคนได้ทราบกัน
สารบัญ
1.ถัง Mash Tun
2.หม้อต้มเบียร์
3.วัดแอลกอฮอล์ด้วย Hydrometer
4.ถังหมักเบียร์ + แอร์ล๊อค
5.ดูดน้ำเบียร์ด้วย Auto Siphon
6.ถังเตรียมบรรจุ + Bottle Filler
7.ฝาจีบ + เครื่องปิดฝาจีบ
8.อุปกรณ์ที่ใช้ในการ Cool Down
9.สรุป
1.ถัง Mash Tun ใน การทำเบียร์
ขั้นตอนที่จำเป็นในการผลิตเบียร์ ก็คือการสกัดน้ำตาลออกจากข้าว หรือที่เราเรียกว่า Mash นั่นเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกสุดที่เราจะเจอในการทำเบียร์ทุกครั้งไป โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะทำ เบียร์สด หรือเบียร์ขวด ก็ต้องผ่านขั้นตอนนี้ด้วยกันทั้งนั้น และอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ก็คือ Mash Tun นั่นเอง
Mash Tun ก็ดูคล้ายกระติกน้ำยังไงยังงั้น จะแตกต่างกันก็ตรงที่ Mash Tun จะมีก๊อก แล้วตรงด้านในของก๊อก ก็จะติดตัวกรองไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กากมอลต์ติดออกมาจากถังด้วย เพราะเวลาเราทำการ Mash เสร็จแล้ว เราจะเอาเพียงแค่น้ำตาลไปทำเบียร์ ส่วนกากข้าวที่เหลือ นำไปทิ้งทั้งหมด
Mash Tun ที่ดีจะต้องเก็บรักษาอุณหภูมิได้ดี มีฉนวนกันความร้อนที่ยอดเยี่ยม เพราะตลอดระยะเวลาการ Mash อุณภูมิจะต้องไม่ลดเกิน 1 – 2 องศาเซลเซียส เนื่องจากขั้นตอนการ Mash สำคัญที่สุด เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของ บอดี้เบียร์ ความหวานและระดับแอลกอฮอล์ จากประสบการณ์ส่วนตัวผมขอเน้นย้ำให้ใส่ใจกับขั้นตอนการ Mash ให้ดี แล้วเบียร์ของคุณจะออกมายอดเยี่ยมเลยละครับ
2.หม้อ สำหรับ การทำเบียร์
สิ่งที่จำเป็นในอันดับถัดมา ก็คือหม้อก๋วยเตี๋ยวครับ ใช่แล้วล่ะครับ หม้อต้มเบียร์กับหม้อก๋วยเตี๋ยว คือสิ่งเดียวกัน เพียงแค่เรานำมาดัดแปลงติดอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและก๊อก เพียงเท่านี้ เราก็สามารถผลิตเบียร์เองได้แล้ว ซึ่งปลายของก๊อกจะนิยมใช้หางปลาไหล เพื่อที่เราจะได้นำสายยาง 5 หุนเสียบ แล้วทำการปล่อยนำเบียร์ออกได้อย่างนุ่มนวล ถัดขึ้นไปจากก๊อก ก็จะมีที่วัดอุณหภูมิ แต่ควรระวังการใช้กระบวยคนให้ดี เพราะมันจะไปสะกิดโดนก้านวัดอุณหภูมิงอเอาได้นะครับ
หม้อต้มเบียร์ก็จะมีหลากหลายขนาดครับ โดยจะพิจารณาจากขนาดความจุเบียร์ที่คุณจะต้ม ถ้าคุณต้มเบียร์ 20 ลิตร จะใช้หม้อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 cm จึงจะเหมาะสม แล้วถ้าคุณต้มเบียร์ขนาด 40 ลิตร จะใช้ต้องใช้หม้อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 cm และถ้าคุณต้มเบียร์ขนาด 60 ลิตร จะต้องใช้หม้อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 cm
3.อุปกรณ์วัดแอลกอฮอล์ใน การทำเบียร์
ทุกครั้งที่เราต้อมเบียร์ เราจำเป็นต้องวัดค่าแอลกอฮอล์ทุกครั้ง เนื่องจากการต้มเบียร์ในแต่ละครั้ง เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า เบียร์ที่ทำนั้น จะมีค่าแอลกอฮอล์เท่ากันในทุกถัง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เราขาดไม่ได้เลยก็คือ Hydrometer นั่นเอง
การทำงานของ Hydrometer คือการนำไปเลยในของเหลวที่เราจะวัด แล้วถ้าในของเหลวนั้นมีสารละลายที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำ สารละลายนั้นจะจมลง แล้วดันแท่ง Hydrometer ขึ้นมา ปกติถ้าแช่ Hydrometer ในน้ำเปล่า จะอ่านค่าได้เท่ากับ 1.010 พอดีเป๊ะเลย
การดูตัวเลขที่ Hydrometer คุณจำเป็นต้องตั้ง Hydrometer ที่ระดับสายตา กระบอกตวงตั้งฉากกับพื้น มิเช่นนั้นแล้ว คุณจะได้ค่าที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริง
4.ถังหมักเบียร์ กับ แอร์ล๊อค
ถังหมักเบียร์ คืออุปกรณ์ที่จะคอยดูแลเบียร์ของเราไปจนกว่าจะจบการหมัก เรียกได้ว่ามีส่วนในการสัมผัสกับน้ำ wort มากที่สุด ซึ่งตัวถังหมักเองจะมีรูอยู่ที่ฝาด้านบน ประกอบกับยางสีดำที่ครอบรูอยู่สำหรับใส่แอร์ล๊อค โดยแอร์ล๊อคจะทำหน้าที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกระบวนการหมัก ออกจากถัง แล้วล๊อคไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้ามาในถังหมัก ซึ่งการใช้งานแอร์ล๊อคจะต้องเติมน้ำให้ถึงระดับเส้นสีน้ำเงินด้วย
ในส่วนของแอร์ล๊อคจะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน โดยไส้แอร์ล๊อคเป็นส่วนในการทำหน้าที่ปล่อยก๊าซในถังออกด้านนอก แล้วล๊อกไม่ให้อากาศเข้า ซึ่งตลอดระยะเวลาการหมัก ไส้แอร์ล๊อคจะขยับตลอดเวลา ส่วนของฝาปิดมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ ไส้แอร์ล๊อคกระเด็นออก
5.Auto Siphon
สำหรับอุปกรณ์นี้ดูเหมือนว่า เราไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่าไร แต่จริงๆแล้วมันคืออุปกรณ์สำหรับ ลักน้ำ นั่นเอง ซึ่งเราเคยเห็นบางคนใช้ปากดูดสายยางเพื่อที่จะเติมน้ำมันรถยนต์ในสมัยก่อน นั่นล่ะครับ หลักการเดียวกัน เพียงแต่ Auto Siphon ไม่ต้องใช้ปากดูด เพียงแค่เราเสียบหลอดดูดน้ำเบียร์เข้าไปในกระบอก แล้วทำการชักขึ้นชักลง เพียงเท่านั้นน้ำเบียร์ก็ไหลออกมาแล้ว ที่เป็นแบบนี้ได้เพราะปลายของกระบอกด้านนอกจะมี ตัวกันน้ำเบียร์ไหลออกอยู่ เมื่อเบียร์เข้ามาในกระบอกจึงไม่สามารถออกไปด้านนอกได้
ในการใช้งาน Auto Siphon จำเป็นที่จะต้องตั้งหลอดให้ตรง มิเช่นนั้นมันจะไม่สามารถดูดน้ำเบียร์ขึ้นมาได้ ที่สำคัญ ถังที่มีน้ำต้องอยู่สูงกว่าถังเปล่าเสมอ และข้อควรระวังอย่างยิ่งเลยก็คือ เวลาเก็บหลอดดูน้ำเบียร์ อย่าให้อะไรไปทับหรือทำให้ยางของหลอดดูดเสียหาย เพราะเราจะไม่สามารถใช้งานได้อีกเลย
6.เครื่องปิดฝาจีบ
เครื่องปิดฝาจีบจะมีสองแบบด้วยกัน คือ แบบพกพา กับแบบแท่นตั้งโต๊ะ ซึ่งแบบแท่นตั้งโต๊ะจะใช้งานได้ง่ายกว่า ปิดได้ดีกว่า เพราะว่าแบบพกพานั้น เราต้องใช้มือจับสองข้างแล้วออกแรงกด ซึ่งเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย เช่น ขวดล้มลงแตก ฝาเบี้ยว ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่แรงไม่มากพอ ก็จะปิดฝาขวดไม่สนิท ก็จะทำให้เบียร์เราเสียอย่างแน่นอน ทั้งสองตัวราคาต่างกันนิดหน่อย จากประสบการณ์ของผม ซื้อแบบแท่นตั้งโต๊ะไปเลยครับ สะดวกกว่าเยอะเลย
7.ถังเตรียมบรรจุและ Bottle Filler
สำหรับอุปกรณ์การบรรจุขวดที่เราต้องมีก็คือ Bottle Filler ซึ่งการใช้งาน ต้องใช้คู่กับถังเตรียมบรรจุที่มีก๊อก แล้วใช้สายยางเป็นตัวเชื่อมระหว่างก๊อกกับตัว Filler ซึ่งหลักการทำงานของมันก็คือจะมีสปริงพร้อมกับวาล์ว ติดอยู่ที่ปลายของ Filler เมื่อเราทำการกดปลายของ Filler ลงที่ก้นขวด มันก็จะทำการปล่อยน้ำเบียร์ออกมา เท่านั้นเอง ส่วนใครอยากทราบวิธีการบรรจุขวดที่ทำให้เบียร์มีคุณภาพสูง ให้อ่านได้ที่บทความนี้ครับ การบรรจุขวดที่มีคุณภาพ
8.การ Cool Down น้ำเบียร์
และแล้วเราก็เดินทางมาถึงอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากที่สุด และเชื่อว่าอุปกรณ์นี้ ทำให้ใครหลายคนถอดใจในการจะทำเบียร์ เพราะเราจะเกิดคำถามเสมอว่าทำไมต้อง cool down มันสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ ผมต้องตอบตรงนี้เลยว่า สำคัญมาก เพราะเมื่อเราต้มเบียร์เสร็จแล้วต้องใส่ยีสต์เพื่อเข้าตู้หมักทันที แต่ยีสต์จะตายทั้งหมดหากสัมผัสอุณหภูมิสูง และที่สำคัญถ้าเราไม่ cool down จะใช้เวลาในการเย็นตัวมากกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เบียร์ติดเชื้ออย่างแน่นอน ฉะนั้นเราจึงหลีกเลี่ยงการ cool down ไม่ได้เลย
หลักการใช้อุปกรณ์นี้คือการ นำท่อทองแดงไปจุ่มในน้ำเบียร์ที่มีความร้อนแล้วเอาน้ำประปาไหลเข้าไปในท่อทองแดง โดยท่อทองแดงจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำประปาไปสัมผัสกับน้ำเบียร์ พูดง่ายๆก็คือใช้น้ำประปาไปทำให้น้ำเบียร์เย็นลงนั่นเอง ในกระบวนการนี้เราจำเป้นต้องมีท่อทองแดง 2 ขด นั่นก็เป็นเพราะหากเราใช้ขดเดียว เราจะไม่สามารถทำให้อุณหภูมิเย็นลงไปถึง 18 – 25 องศาได้
ดูจากภาพประกอบ เราจะเห็นสายยางสีเขียว นั่นก็คือน้ำประปาอุณภูมิประมาณ 30 – 35 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิประเทศไทย) จากนั้นก็จะผ่านท่อทองแดงขดแรก ซึ่งอยู่ในกระติก ตรงนี้เราสามารถใส่น้ำแข็งในกระติกสีแดงได้ เพื่อทำให้น้ำประปาเย็นลงไปอีก จนอยู่ในช่วงประมาณ 2 – 5 องศา (แนะนำให้ใส่น้ำแข็งยูนิตไม่ต่ำกว่า 4 ถุง) แล้วน้ำเย็นจัดจะวิ่งผ่านสายยางสีน้ำเงิน ไปผ่านขดทองแดงอีกขดนึงที่แช่อยู่ในน้ำเบียร์ จากนั้นก็ออกมาเป็นน้ำร้อนจัดๆที่สายยางสีแดง
หากท่านใดอยากทราบว่ากระบวนการ cool down ใช้งานตอนไหน เมื่อไร ให้อ่านบทความนี้ได้เลยครับ การทำเบียร์กินเอง
9.สรุป เรื่องของอุปกรณ์ การทำเบียร์
อุปกรณ์ใน การทำเบียร์ นั้นดูเหมือนจะยุ่งยากและซับซ้อน แต่ถ้าหากเราเข้าใจในทุกอุปกรณ์ และทุกกระบวนการ ก็ไม่ยากมากจนเกินไปใช่มั้ยล่ะครับ จะให้พูดอีกแบบก็เหมือนกับการทำอาหารนั่นล่ะครับ บางคนอาจจะมองว่ายาก บางคนก็บอกว่าไม่เห็นจะมีอะไรเลย นั่นก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคน จริงๆแล้ว การทำเบียร์ ยังสามารถใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างจากนี้ได้อีก ก็แล้วแต่ความถนัดของบุคคลเลยนะครับ แต่ในบทความนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าง่ายที่สุดครับ ยังไงก็ลองศึกษากันดูนะครับ